มะตูมแข็งนอก มะกอกแข็งใน (ตอนที่ ๑)

นายแพทย์วิชัย เทียนถาวร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา

ที่มา : หนังสือกฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ พระธรรมสิงหบุราจารย์ เล่มที่ ๒๕ หน้า ๑๐๕ – ๑๑๓

————————————————————————————————

ชื่อเรื่องนี้ เป็นคำสอนของหลวงพ่อที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ “พระธรรมสิงหบุราจารย์” หน้าที่ ๑๑๘ ฉบับวันเกิด ๑๕ สิงหาคม ๒๕๕๑ เป็นคำอุปมาอุปมัยของคำว่า “อดทน อดกลั้น” กล่าวคือ

เปลือกนอกของลูกมะตูมนั้นแข็ง ไม่เปราะบางทนทานได้ทุกสภาพ หลวงพ่ออยากให้ลูกศิษย์ทุกคนอดทนต่อสู้ความลำบาก ทำหน้าที่การงานด้วยความอดทนเข้มแข็งดั่งเปลือกผลมะตูม ที่แข็งข้างนอก ไม่อ่อนยวบยาบ ทนอากาศสิ่งแวดล้อมทุกสภาพ

“มะกอกแข็งใน” เปลือกนอกของผลมะกอกนั้นอ่อน แต่เม็ดข้างในแข็ง ท่านสอนให้เรามีจิตใจเข้มแข็งอดทนต่อการว่ากล่าว เสียดสี ดุด่าว่ากล่าวได้ เหมือนว่า “มะตูมแข็งนอก มะกอกแข็งใน”

หลวงพ่อบอกว่า “ถ้าใครเป็นมะตูมแข็งนอก มะกอกแข็งใน คนนั้นจะสำเร็จกรรมฐาน สร้างความดีให้กับตนเองสมความปรารถนาทุกประการ”

การเจริญกรรมฐานต้องจริงจัง ไม่หละหลวมเหลาะแหละ ตั้งหน้าประกอบอาชีพด้วยความสุจริตยุติธรรม มีสามีหรือภรรยาน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

หลวงพ่อบอกว่า “คน” แปลว่า มีปัญหา แปลว่า ยุ่ง เขาทำอะไรก็มีปัญหายุ่งยาก เหนื่อยยาก พระพุทธเจ้ากว่าจะตรัสรู้ต้องทนทุกข์ทรมานกาย ๖ ปีเต็ม พระพุทธเจ้าชาติสุดท้ายเป็นพระเวสสันดร ท่านทรงทนทุกข์ลำบากใจมากมาย แต่ทรงอดทนได้ เรามาเจริญกรรมฐาน มาสร้างบารมี ไม่ใช่มาเที่ยวเล่น มาคุยกัน จะเสียเวลาที่มีประโยชน์มาก

โยมที่เป็นพ่อค้า แม่ค้า ก็ต้องสร้างบารมี ต้องมีความเพียรสูง ต้องทำมาหากินด้วยความเหนื่อยยากลำบาก หลวงพ่อท่านเองก็ยังต้องลำบากลำบนมากเหมือนกัน เดินธุดงค์ต้องตากแดดตากฝนต้องอดทน ไม่ได้ฉันข้าว ๗ วัน ไม่สามารถไปบิณฑบาตได้ ๗ วัน ๗ คืน ท่านจึงได้รู้ว่า ถึงเป็นปลา ว่ายทวนน้ำด้วยความยากลำบาก ก็ขึ้นไปบนยอดภูเขาได้

… มีต่อตอนที่ ๒