มะตูมแข็งนอก มะกอกแข็งใน (ตอนที่ ๓)

ต่อจากตอนที่ ๒….

การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ทางสายเอกของพระพุทธเจ้า (กายา เวทนา จิตตา ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน) อยู่ในอริยมรรคมีองค์ ๘ พระพุทธเจ้าสอนเหตุสอนผล เดิมเราอาจจะเป็นคนไม่ค่อยมีเหตุมีผล ใครพูดอะไรก็โกรธ หลงคนง่าย ขี้อิจฉาริษยา เพราะเราเป็นคนไม่มีหลัก การเจริญกรรมฐานทำให้มีความฉลาด มีสติ สมาธิปัญญาเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ทำให้เป็นคนมีศีลธรรม

ทั้ืงหมดเป็นเรื่องของแต่ละคน หลวงพ่อจรัญท่านอบรมสั่งสอน ช่วยให้เราเป็นคนดี ด้วยคำสอนของพระพุทธองค์

ตัวผมเองได้มาปฏิบัติธรรมครั้งแรกเมื่อ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ ใช้เวลา ๓ วัน ๒ คืน ได้รับประกาศนียบัตรจาก “วัดอัมพวัน และมูลนิธิภาวนา-กรศรีทิพา” ตอนนั้นหลวงพ่อท่านเป็นพระราชสุทธิญาณมงคล นับถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาล่วงไป ๑๕ ปีแล้ว และผมได้เข้าปฏิบัติอีก ๑-๒ ครั้ง

หลังกลับจากวัดก็ไม่ได้ปฏิบัติตามที่หลวงพ่อแนะนำ แต่ยังสวดมนต์อยู่ จนเมื่อลูกน้องที่กรมอนามัยชวนให้ลองไปปฏิบัติธรรมที่วัดแดนสงบอาสภาราม จังหวัดนครราชสีมา ในส่วนตัวก็อยากรู้ว่ามีวิธีปฏิบัติเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

ผมปฏิบัติอยู่ ๘ วัน ๗ คืน พบว่ามีข้อสงสัย วิธีการ หลักการ และผลการปฏิบัติ ความรู้สึกเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา เกิดนิวรณ์ ๕ เช่น ลังเลสงสัย ไม่แน่ใจต่าง ๆ นานา แก้ปัญหาด้วยการสอบถามจากผู้รู้ คุยกับหลวงพ่อบ้าง และสำคัญคือการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยใช้เวลา ๓๐-๖๐ นาที ๑ ครั้ง ตลอดระยะเวลา ๓ ปี ที่ผ่านมา ซึ่งนับว่าน้อยสำหรับผมที่อายุ ๖๐ ปีเศษแล้ว

จนกระทั่งปลายปี พ.ศ.๒๕๕๑ ผมมีโอกาสมาตั้งโรงเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยพะเยา โดยการชักชวนของเพื่อน คือ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา

โรงเรียนแพทย์แห่งแรก คือ โรงเรียนแพทย์ศิริราช ถือกำเนิดมาแล้วมากกว่า ๑๒๐ ปี เป็นสถาบันเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ผมเป็นศิษย์เก่า เรียนจบแพทย์เป็นรุ่นที่ ๗๗ ปัจจุบันนี้มีโรงเรียนแพทย์แล้ว ๑๘ แห่ง คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยาที่เกิดล่าสุดนี้เป็นแห่งที่ ๑๙

การตั้งโรงเรียนแพทย์มีองค์ประกอบ ระเบียบปฏิบัติตามข้อบังคับของ “แพทยสภา” มากมาย ละเอียดอ่อน สลับซับซ้อน ความพร้อมของปัจจัยต่าง ๆ ในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรการเรียนการสอน อาคารสถานที่ สื่อการเรียนการสอน ครุภัณฑ์การเรียนการสอน ทั้งรับนิสิตของชั้นเตรียมแพทย์และชั้นคลินิก ตลอดจนงบประมาณ เป็นเรื่องยากมาก มีอุปสรรคปัญหามากมาย ทุกสถาบันใช้เวลาในการดำเนินการมากกว่า ๒-๓ ปี พูดได้ว่า “เกิดยาก”

ที่สำคัญที่สุดคือ “ครูแพทย์” ซึ่งโดยปกติหายากอยู่แล้ว และยิ่งจังหวัดพะเยาอยู่ห่างไกลมาก และเป็นจังหวัดเล็ก ๆ ในภาคเหนือ ก็ต้องบอกว่า “หายาก” สักหน่อย และกระบวนขั้นตอนต่าง ๆ อาจารย์แพทย์ที่มาตรวจประเด็นก็ต้องเคร่งครัด เพราะเป็นโรงเรียนแพทย์ ต้องได้มาตรฐาน เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตคน เป็นเรื่องของโรคภัยไข้เจ็บ เสี่ยงต่อความเป็นความตาย พลาดไม่ได้

ในฐานะที่เป็นลูกศิษย์หลวงพ่อ ด้วยพลังเคารพนับถือและศรัทธาอย่างสูงในตัวหลวงพ่อ และธรรมโอสถที่หลวงพ่อพร่ำสอนสาธุชนโดยทั่วไปตลอดมา ปรากฏในหนังสือหลายเล่ม และที่หนังสือที่ผมกล่าวข้างต้น และหนังสือชื่อเรื่อง “กรรมกำหนด” พระธรรมเทศนาหลักธรรมฉบับรวมเล่มของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม  ซึ่งผมได้ทบทวนค้นคว้ามา ประกอบกับกรรมที่ผมได้ทำมา การก่อตั้งโรงเรียนแพทย์แห่งที่ ๑๙ ของประเทศ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยา ที่ผมเป็นผู้ดำเนินการ ใช้เวลาในการดำเนินการ ๓๖๕+๕ วัน (๑ ปี กับ ๕ วัน) ก็สำเร็จตามปกติแต่ละที่จะใช้เวลามากกว่า ๒-๓ ปี

ต่อตอนที่ ๔….